มาทำความรู้จัก ข้อกำหนดของ High Resolution Audio กันเถอะ

ในช่วงปีสองปีให้หลังมานี้ คนที่ติดตามข่าวสารด้านแกดเจ็ตต่าง ๆ มักจะได้ยินคำว่า High Resolution Audio (HRA) หรือเสียงความละเอียดสูงกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีอุปกรณ์ที่รองรับออกมากันอย่างมากมาย และกำลังจะทะยอยออกมาอีกในปีหน้า

อย่างไรก็ตามหลาย ๆ คนก็สงสัยว่าอุปกรณ์ที่รองรับ HRA ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงจะบอกได้ว่าอุปกรณ์นั้นรองรับ HRA จริง ๆ วันนี้ RE.V-> จะมาไขข้อข้องใจเหล่านี้ครับ

สำหรับ High Resolution Audio นั้น ในกลุ่มคนที่เล่นเครื่องเสียงคงเป็นอะไรที่ทุกคนรู้จักกันมานานแล้ว ย้อนไปตั้งแต่สมัยช่วงที่มีการออกมาตรฐาน Super Audio CD ขับเขี่ยวกับ DVD-Audio ที่มาตรฐานทั้งสองต่างเคลมว่าเสียงที่บันทึกมีความละเอียดสูงกว่า Audio CD

แต่ผู้ชนะในยุคนั้นกลับกลายเป็น MP3 ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีคุณภาพเสียงแย่กว่า แต่ก็ได้เปรียบในเรื่องของความสะดวก เพราะไฟล์มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถแชร์ไฟล์เพลงกันผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำได้อย่างง่ายดาย

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตครองเมือง กลุ่มคนเล่นเครื่องเสียงก็เริ่มหันมาหาเพลงในรูปแบบไฟล์ Studio Master หรือไฟล์เพลงต้นฉบับที่ได้จากห้องอัดโดยไม่ผ่านขั้นตอนการแปลงให้อยู่ในรูปแบบเพื่อแจกจ่าย เช่น Audio CD หรือ MP3 ซึ่งต้นฉบับส่วนมากมักจะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ความละเอียดสูงอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นเทปแม่เหล็กซึ่งสามารถนำมาถ่ายโอนให้อยู่ในรูปแบบความละเอียดสูงได้ภายหลัง

หลังจากที่ HRA ได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นเครื่องเสียงที่ต้องการฟังเพลงในรูปแบบต้นฉบับที่ไม่มีการลดทอนคุณภาพแล้ว ในเดือนกันยายน ปี 2013 Consumer Electronics Association (CEA) ได้ร่วมมือกับ Sony Electronics และค่ายเพลงในกลุ่ม Big Three คือ Universal Music, Warner Music และ Sony Music ในการผลักดัน HRA เข้าสู่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป

ทาง Sony Electronics เองก็ได้ออกสินค้าที่รองรับ HRA โดยใช้โลโก้ Hi-Res Audio เป็นตัวบ่งบอก ซึ่งสินค้าที่รองรับ HRA ของ Sony จะต้องรองรับการตอบสนองความถี่ที่ 40 kHz ขึ้นไป และรองรับความละเอียดที่ 24-bit 96 kHz ส่วนทางค่ายเพลงต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะออกอัลบั้มใหม่ ๆ ในรูปแบบ HRA และนำอัลบั้มเพลงฮิตในอดีตกลับมา remaster ใหม่อีกครั้ง

เนื่องจาก HRA นั้นไม่มีคนกำหนดมาตรฐานที่แน่นอน ผู้ใช้ก็เริ่มสับสนว่าอะไรคือ HRA กันแน่ ในช่วงเดือนมีนาคม 2014 JEITA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกข้อกำหนดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ IT ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น จึงได้ออกข้อกำหนดของ HRA เอาไว้ดังนี้

High Resolution Audio คือ เสียงในรูปแบบดิจิทัล LPCM ที่เหนือกว่ามาตรฐาน Audio CD ที่มีความละเอียด 16-bit 44.1 kHz (ใช้ใน CD) และ 48 kHz (ใช้ใน DVD และเทป DAT) และหากมีค่าใดค่าหนึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน Audio CD ก็ไม่จัดว่าเป็น HRA

ตัวอย่างความละเอียดที่เป็น HRA

48 kHz 24-bit (เท่า CD / เหนือกว่า CD)
96 kHz 16-bit (เหนือกว่า CD / เท่า CD)
96 kHz 24-bit (เหนือกว่า CD / เหนือกว่า CD)
ตัวอย่างความละเอียดที่ไม่เป็น HRA
48 kHz 16-bit (เท่า CD / เท่า CD)
96 kHz 12-bit (มากกว่า CD / น้อยกว่า CD)
32 kHz 24-bit (น้อยกว่า CD / มากกว่า CD)
คุณสมบัติของ HRA ที่กำหนดโดย JEITA นั้นพูดถึงเรื่องของความละเอียดของการเข้ารหัสเสียงแบบ LPCM เป็นหลักโดยไม่ได้สนใจคุณสมบัติอื่น ๆ

นอกเหนือจากใช้คุณสมบัติตามมาตรฐานของ Sony ทาง Sony เองยังได้โอนโลโก้ Hi-Res Audio ของตนเองให้กับ JAS สำหรับใช้โปรโมทอุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองอีกด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มเห็นผู้ผลิตเครื่องเสียงจากญี่ปุ่นหลาย ๆ เจ้านอกเหนือจาก Sony ใช้งานโลโก้ตัวนี้กับสินค้าของตัวเองกันบ้างแล้ว

สำหรับข้อหนดของ HRA ของ JAS มีดังนี้

สำหรับอุปกรณ์แอนะล็อก

ไมโครโฟน ต้องตอบสนองต่อความถี่ได้มากกว่า 40 kHz
เครื่องขยายเสียง ต้องมีประสิทธิภาพในการขับความถี่ได้มากกว่า 40 kHz
ลำโพงและหูฟัง ต้องตอบสนองต่อความถี่ได้มากกว่า 40 kHz
สำหรับอุปกรณ์ดิจิทัล

รูปแบบการบันทึกเสียง ไฟล์ WAV หรือ FLAC ที่ความละเอียด 24-bit 96 kHz ขึ้นไป
ภาคสัญญาณขาเข้าและออก ต้องมีความละเอียด 24-bit 96 kHz ขึ้นไป
รูปแบบการเล่นกลับ ไฟล์ WAV หรือ FLAC ที่ความละเอียด 24-bit 96 kHz ขึ้นไป (กรณีเป็นอุปกรณ์บันทึกเสียง สามารถเลือกรองรับไฟล์เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้)
การประมวลผลสัญญาณ (DSP) ต้องประมวลผลที่ความละเอียด 24-bit 96 kHz ขึ้นไป
การแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นแอนะล็อก ต้องมีความละเอียด 24-bit 96 kHz ขึ้นไป
นอกเหนือจากข้อกำหนดข้างบน อุปกรณ์จะต้องผ่านการประเมินจากการฟังตามมาตรฐานของผู้ผลิตอุปกรณ์ ก่อนที่จะได้รับการรับรองและสามารถใช้โลโก้ Hi-Res Audio ในการโปรโมทอุปกรณ์ตัวนั้นได้
ส่วนในฝั่งของอเมริกานั้น ทาง CEA ได้ตกลงรับข้อกำหนด HRA ของ JAS รวมทั้งใช้งานโลโก้ Hi-Res Audio เช่นเดียวกับผู้ผลิตเครื่องเสียงในญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ทาง CEA เองได้มีการร่วมมือกับ The Digital Entertainment Group (DEG), The Recording Academy และค่ายเพลง Big Three ออกข้อกำหนดของ HRA ไว้ดังนี้

High Resolution Audio คือสัญญาณเสียงแบบไม่สูญเสียคุณภาพ ที่สามารถสร้างเสียงกลับได้ครบถ้วนตรงตามต้นฉบับ ซึ่งแหล่งที่มาของต้นฉบับมีคุณภาพสูงกว่า CD

นอกจากนี้ยังได้ระบุข้อกำหนดของต้นฉบับที่ใช้ในการผลิตไฟล์เพลงรูปแบบ HRA ที่เรียกว่า Master Quality Recording ขึ้นมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

MQ-P สำหรับต้นฉบับในรูปแบบ PCM ที่ความละเอียดมากกว่า 20-bit 48 kHz
MQ-A สำหรับต้นฉบับในรูปแบบแอนะล็อก เช่น เทปแม่เหล็ก
MQ-C สำหรับต้นฉบับที่ใช้ในการผลิต Audio CD (16-bit 44.1 kHz)
MQ-D สำหรับต้นฉบับในรูปแบบ DSD / DSF (2.8 และ 5.6 MHz)
สรุปแล้ว ตอนนี้ High Resolution Audio ก็น่าจะมีมาตรฐานเป็นตัวเป็นตนแล้ว นั่นก็คือมาตรฐานของ JAS ที่อิงตามคุณสมบัติ Hi-Res Audio ของ Sony อีกที คืออุปกรณ์ต้องมีความละเอียดอยู่ที่ 24-bit 96 kHz ขึ้นไป และรองรับความถี่ที่ 40 kHz ขึ้นไป ซึ่งค่าที่กำหนดออกมาก็สอดคลองกับทฤษฏีการสุ่มสัญญาณพอดีครับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก HRA นั้นเพิ่งเปิดตัวกับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปไม่นานมากนัก ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ข้อกำหนดที่วางไว้จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ปีหน้าในงาน CES ที่กำลังจะมาถึง เราจะได้พบเห็นอุปกรณ์ที่รองรับ HRA หลั่งไหลกันเข้ามาหาเหล่าผู้ใช้ทั่วไปแน่นอนครับ